หญ้าทะเล

หญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงชนิดหนึ่งที่สามารถเติบโตได้ดีในน้ำทะเล ซึ่งนักพฤษศาสตร์กล่าวว่า หญ้าทะเลเป็นพืชที่วิวัฒนาการมากสาหร่ายทะเล และเคยเป็นพืชที่เจริญเติบโตอยู่บนบก ต่อมาได้ปรับตัวลงไปเจริญเติบโตในทะเลอีกครั้ง เป็นพืชที่พบว่าสามารถเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นถึงเขตร้อน อยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นเป็นปล้องอยู่ใต้ดิน มีรากงอกออกมาตามข้อ กิ่งก้านใบจะงอกชูขึ้นข้างบน มีดอกและมีผล ในจังหวัดตรังพบหญ้าทะเลขึ้นชุกชุมตามแถบชายฝั่งหลายแห่ง ที่พื้นทะเลมีสภาพเป็นดินทรายปนโคลน เช่น เกาะสุกร เกาะลิบง เกาะนก ปากคลองเจ้าไหม เกาะมุก หาดฉางหลาง และแหลมไทร

 

จากการสำรวจชนิดของหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งจังหวัดตรังพบว่า มีหญ้าทะเล 6 สกุล 9 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบยาว (Enhalus acorodes) หญ้าชะเงาใบสั้นสีน้ำตาล (Cymodocea rotandata) หญ้าทะเลใบสั้น ปลายใบแฉก (Haladule uninervis) หญ้าเต่า (Thalasia hemprichii) หญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาว (Cymodocea serrulata) หญ้าผมนาง (Halodule pinifolia) หญ้าใบสน (Syringodium isetifolium) หญ้าใบกลมหรือใบมะกรูด (Halophila ovalis) และหญ้าแคระ (Halophila beaccarii)

 

หญ้าทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นแหล่งผลิตขั้นปฐมภูมิในระบบห่วงโซ่อาหารทางทะเล เป็นแหล่งวางไข่ เพาะฟัก และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้มีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยอยู่มาก ต่อมาปรากฏว่ามีชาวประมงบางกลุ่มใช้วิธีผิดกฏหมายในการจับสัตว์น้ำ เช่น ใช้อวนรุนและอวนลาก เครื่องมือเหล่านี้เป็นตัวการทำลายหญ้าทะเลและทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งจะทำให้สัว์น้ำร่อยหรอลงและอาจหมดไปในที่สุด แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ทั้งชุมชนประมงชายฝั่ง องค์กรเอกชน และทางราชการตระหนักในความสำคัญของหญ้าทะเล และร่วมมือกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์แนวหญ้าทะเลกันอย่างต่อเนื่อง

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>