สาคู

sago-palm-6576817_1280

จากมรดกพืชพรรณแห่งตรังเขาลงมาสู่พื้นล่าง ตามที่ราบลุ่มตรังนาที่ยังคงความชุ่มชื้นอยู่ได้ เพราะมีพืชพรรณชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ ตามแหล่งน้ำกลางทุ่ง นั่นคือ สาคู เป็นพืชตระกูลปาล์ม มี 2 ชนิด ชนิดที่ก้านช่อดอกไม้ไม่มีหนาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Metroxylon sagu Rottb. ส่วนชนิดที่ก้านช่อดอกมีหนามชื่อ Metroxylon rumphii Mart. คำว่าสาคู มาจากภาษามลายู ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sago palm

 

ต้นสาคูมิได้มีเพียงในจังหวัดตรังเท่านั้น หากขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบภาคใต้ของประเทศไทย ลงไปจนถึงอินโดนีเซีย ในจังหวัดตรัง สาคูเป็นพืชสำคัญต่อวิถีชีวิตแห่งชุมชนตรังนา จากการสำรวจป่าสาคูในอำเภอเมือง และอำเภอนาโยง ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข พบว่า มีพืชในป่าสาคูไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด เช่น ไทร จิก มะเดื่อ คลุ้ม ผักหนาม ฯลฯ ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทำให้บริเวณป่าสาคูมีน้ำตลอดปี จึงมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการวางไข่ ขยายพันธุ์และเป็นที่หลบซ่อนของปลาต่างๆ ได้ดี สัตว์น้ำอื่นๆ และสัตว์ที่เมาหาอาหารก็มีหลายชนิด ป่าสาคูจึงเป็นบ่อน้ำธรรมชาติและเป็นระบบนิเวศย่อยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญยิ่งในเขตที่ราบลุ่ม

 

ผลิตภัณฑ์จากต้นสาคูเป็นตัวทำรายได้หลายทาง ใบสาคูใช้เย็บจากมุงหลังคา ห่อขนมจาก ทางสาคูใช้ทำคอกสัตว์ รั้งแบบง่ายๆ ผิวเปลือกของทางสาคูนำมาจักตอกสานเสื่ไว้ปูนอนหรือตากข้าว

sago-378697_1280

คนทั่วไปรู้จักสาคูที่มาทำเป็นขนมหวาน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าสาคูมาจากต้นสาคูได้อย่างไร เมื่อต้นสาคูโตเต็มที่ตอนอายุประมาณ 8-10 ปี จะมีดอกออกตรงยอดคล้ายเขากวาง ชาวบ้านเรียกว่า แตกเขากวาง เมื่อออกผลแล้วสาคูจะตาย ช่วงนี้เองที่ต้นสาคูมีแป้งสะสมอยู่เต็ม เห็นได้จากก้านใบที่มีละอองขาวๆ จับอยู่ ชาวบ้านจะรู้ว่าตอนนี้ทำแป้งสาคูได้แล้ว

 

กระบวนการทำแป้งสาคูเริ่มจากการตัดต้นสาคู ต้องตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณครึ่งเมตร ตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 1 นำท่อนสาคูมาผ่าเป็นสี่เสี้ยว ขูดเอาไส้ในมาเป็นฝอยแป้งแล้วนำไปละลายในน้ำสะอาด คั้นเอากากออก และใส่ในภาชนะทรงสูง ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1 คืน ช่วงนี้ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ 1-2 ครั้ง เพื่อเอาน้ำฝาดออก มิฉะนั้นแป้งจะเปรี้ยว ผ่านไปหนึ่งคืนก็เทน้ำใสส่วนบนทิ้ง เอาแป้งมาห่อผ้าขาวให้สะเด็ดน้ำหรือผึ่งแดดให้แห้งก่อนที่จะนำมาคลึงด้วยขวดหรือวัสดุผิวเรียบให้เป็นแป้งละเอียด บางแห่งนำมาร่อนด้วยกระด้งให้เป็นเม็ดกลมๆ แป้งสาคูที่ได้จากต้นสาคูจะเป็นสีชมพูอ่อน ส่วนสาคูเม็ดสีขาวที่เห็นอยู่ในท้องตลาดเป็นสาคูที่ได้มาจากแป้งมันสำปะหลัง

 

ลำต้นสาคูส่วนปลายๆ จะมีรสหวาน เหลือจากตัดไปทำแป้งยังใช้ประโยชน์ได้อีกโดยเอามาสุมด้วยทางสาคู ประมาณเดือนสองเดือนจะมีด้วงสาคูออกมาเป็นร้อยตัว ต้นสาคูที่แก่เต็มที่และตายเองจะมีดวงสาคูอยู่เช่นกัน

ด้วงสาคูเป็นอาหารโปรตีนสูงที่นิยมกันมาก ขายได้ราคาดี

 

ป่าสาคูที่ใกล้เมืองที่สุดของตรังคือ ป่าสาคูที่บ้านต้นเสมอ ตำบลโคกหล่อ ส่วนที่อำเภอนาโยงก็มีกระจายทั่วไปทุกท้องทุ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการพัฒนาแหล่งน้ำของทางราชการด้วยการขุดลอกคูคลองต่างๆ ได้ทำลายป่าสาคูไปแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อไม่มีป่าสาคู ความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพตรงนั้นก็จะเสื่อมสลายไปด้วย การพัฒนาแหล่งน้ำที่ดีที่สุดของที่ราบลุ่มแห่งตรังนา คือการรักษามรดกป่าสาคูให้คงอยู่ตลอดไป

 

 

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>