โสมนัส สุทธินนท์

พี่ต้อย โสมนัส สุทธินนท์ กรรมการหอการค้าจังหวัดตรัง เจ้าของตลาดสุทธินนท์ อำเภอนาโยง

หากจะนึกถึงภาพคนตรังสักคน ที่เป็นหนึ่งในตัวแทนของคำว่า “ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี” อันหมายถึงความมีน้ำใจต่อส่วนรวม ซึ่งภาษาสมัยใหม่ใช้คำว่า “จิตสาธารณะ” โสมนัส สุทธินนท์ กรรมการหอการค้าจังหวัดตรัง เจ้าของตลาดสุทธินนท์ อำเภอนาโยง  หรือ พี่ต้อย คงจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีสำหรับคำกล่าวนั้นโดยไม่มีข้อกังขา เพราะพี่ต้อยเป็นคนดีของเมืองตรัง ที่คนตรังจำนวนไม่น้อยรู้จักและคุ้นเคยมานาน ในฐานะพิธีกรคนเก่ง ยินดีช่วยเหลือทุกงานราษฎร์งานหลวง และอีกหลายตำแหน่งทางสังคม ที่พี่ต้อยอุทิศตัวให้ด้วยความเต็มใจมาโดยตลอด โดยไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน

ความผูกพันของพี่ต้อยกับจังหวัดตรังนั้นยาวนานชั่วชีวิต เพราะเกิดและเติบโตที่นี่
“ทุกอย่างของผมผูกพันกับจังหวัดตรังตั้งแต่ก่อนเกิด เพราะบรรพบุรุษในสกุล สุทธินนท์ของผมก็อยู่จังหวัดตรังมาตลอด ตั้งแต่สมัยเมืองเก่าอยู่ที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง คุณทวด คุณปู่ คุณพ่อของผมก็เป็นคนตรัง และมีใจที่รัก ปรารถนาดีต่อจังหวัดตรังบ้านเกิด ในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญก็คือในด้านของประชาชนมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลัก ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ครอบครัวของผมและตัวผม ก็มีความปรารถนาจะให้คนจังหวัดตรังเป็นคนที่ดีของสังคมเป็นอันดับแรก
แต่เดิมประมาณกว่า 30 ปีที่แล้ว ลูกหลานสกุลสุทธินนท์ จะรับราชการมากกว่า แต่มายุคนี้ค่อนข้างจะปนๆ กัน ในยุคก่อนอาจจะในช่วง พ.ศ. 2500-2520 หากทำงานในราชการอาจจะมีความสะดวกในการช่วยเหลือสังคมมากกว่า แต่ในยุคนี้แม้จะทำงานในภาคเอกชนหรือรัฐบาล ก็สามารถทำความดีให้แก่สังคมได้เหมือนกัน

สำหรับผมเองจะว่าผมโชคดีก็ได้ ที่มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งภาคเอกชนและส่วนราชการ ผมเรียนจบอายุ 20-21 ปี ผมก็เข้ารับราชการอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข อายุ 24 ก็มีโอกาสได้ไปเป็นพนักงานที่ธนาคารออมสิน อายุ 31 ก็มาประกอบอาชีพส่วนตัว มีตลาดเล็กๆ เป็นธุรกิจของครอบครัวที่อำเภอนาโยง เป็นตลาดที่คุณปู่ได้สร้างขึ้นมา ต่อมาพอโรงแรมธรรมรินทร์เปิด เมื่อปี 2530 คุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง ก็ชักชวนผมซึ่งตอนนั้นเป็น 1 ในคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดตรังมาร่วมกันบริหาร ผมก็ได้มีส่วนเข้ามาช่วย เนื่องจากว่าตรังในสมัยนั้นยังไม่เคยมีโรงแรมชั้น 1  จึงเรียกกันว่า ธรรมรินทร์ 1 ซึ่งเป็นแห่งแรกของเมืองตรัง ใช้คำว่า “ห้องรับแขกของเมืองตรัง” ใครเข้ามาจังหวัดตรัง มาราชการ หรือธุรกิจ มาพักหรือมาประชุม ก็ต้องมาที่นี่ ผมได้มีโอกาสร่วมกันทำทั้งโรงแรมทั้งหอการค้าฯ ด้วยกันมาตลอด 20 กว่าปีได้แล้ว จนปัจจุบันนี้ผมก็เป็นกรรมการหอการค้าฯ เป็นประชาสัมพันธ์หอการค้าฯ
ในส่วนของภาคสังคม ผมก็บริการสังคมมาโดยตลอดทั้งการประสานงาน ในบทบาทกรรมการหอการค้าฯ ทั้งด้านพิธีกรในงานเทศกาลต่างๆ ของหอการค้าฯ ที่ขอความช่วยเหลือมา เช่น พิธีกรงานเลี้ยง งานแต่งงาน แต่ผมไม่ได้ทำงานพิธีกรเพื่อหารายได้ ผมทำเพื่อสังคมในงานที่เขาขอความช่วยเหลือ บทบาทของพิธีกรนี้ผมทำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน แม้ในยุคหลังจะได้สินน้ำใจมาบ้าง แต่ผมมีความสุขที่ได้ทำเพื่อสังคม”

ในฐานะของนักประชาสัมพันธ์ สิ่งที่สื่อสารออกมาให้คนเชื่อจะต้องออกมาจากความจริงใจ ซึ่งการบอกเล่าสิ่งดีๆ ของเมืองตรังให้ใครๆรู้นั้น เป็นความสุขใจของพี่ต้อยเสมอ

“ผมประทับใจชาวตรังเพราะเราเป็นคนที่จริงใจ อย่างที่เขาว่ากันว่า  “ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี’’ ชาวตรังเป็นคนตรงๆ ถ้าเทียบบุคลิกกับภาคอื่น อาจจะดูไม่ค่อยอ่อนน้อม ทว่าเนื้อแท้นั้นเป็นคนมีน้ำใจ ในมุมมองของนักท่องเที่ยวบางคนอาจเห็นว่า การบริการของร้านอาหารในตรัง อาจจะด้อยกว่าที่อื่นอยู่บ้าง ซึ่งตัวผมก็พยายามจะแก้ในส่วนนี้อยู่ แต่ในความเป็นจริง คนตรังไม่ได้ก้าวร้าวหากแต่เป็นคนจริงใจ”

แม้พี่ต้อยจะออกตัวว่า คนตรังมีบุคลิกที่ดูเหมือนไม่พร้อมรับแขก แต่ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวของตรังนั้น มีความพร้อมมากที่จะต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การพัฒนาตรังไปสู่ความเมืองท่องเที่ยวชั้นนำจึงเป็นอนาคตที่เห็นอยู่รำไร

“ผมเคยอ่านคอลัมน์จากส่วนกลางที่หนึ่งเขาบอกว่า ประเทศไทยควรจะเน้นพัฒนาจุดแข็งทางด้านเกษตรกรรม มากกว่าอุตสาหกรรม โดยส่วนตัวผมอยากให้จังหวัดตรังพัฒนาไปแบบยั่งยืน เช่นเรื่องการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ แต่ก็ต้องมีการบริการนักท่องเที่ยวที่สะดวกสบายมากขึ้น จัดระบบในการพัฒนา ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนนิ่ง หรือการดูแลเรื่องมลภาวะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้สมดุล เพราะหากว่าเรามีการกำกับมากเกินไป บางครั้งการท่องเที่ยวก็ไม่โต
ในเรื่องของอาชีพผมอยากให้เกษตรกรจังหวัดตรัง เช่น ชาวสวนยางฯ มีความภูมิใจและตั้งใจในการศึกษาพัฒนา ตัวผมเชื่อว่าอาชีพเกษตรกร หรือสวนยางฯ ยังพัฒนาไปได้ยังอยู่ได้ จังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีต้นยางพาราเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เราน่าจะเป็นผู้นำด้านนี้ โดยพิจารณานำเรื่อง เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาทั้งทางด้านปริมาณผลผลิต และคุณภาพ”

พี่ต้อยอยากให้ตรังพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งมาจากการที่อยากเห็นลูกหลานชาวตรังได้ร่ำเรียน และกลับมาทำงาน สร้างความเจริญในบ้านเกิดของตัวเอง เพราะการศึกษาที่ตรังในปัจจุบันเจริญมาก
“ตรังเป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านการศึกษา นักเรียนต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในจังหวัดตรังเยอะครับ  ตอนนี้ก็มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แต่ก็ต้องยอมรับว่า โอกาสในการทำงานในท้องที่ ปัจจุบันไม่ค่อยมากเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะ ตลาดแรงงาน และ ตำแหน่งงาน ของราชการยังไม่มากนัก คงแค่พอมีบ้างเท่านั้น
การที่จะให้ลูกหลานของเรากลับมาบ้าน มีงานดีๆทำ เมืองก็ต้องมีการพัฒนาให้เติบโต แต่ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้เมืองตรังเติบโตอย่างมีคุณภาพ อยากให้คนตรังรุ่นใหม่ๆ เห็นความสำคัญของการเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม มาก่อนความเก่ง  มีภาพลักษณ์ที่สะอาด เป็นคนจริงใจ แม้บุคลิกภายนอกอาจจะดูเหมือนดุ ยิ้มไม่เก่ง พูดไม่หวาน เป็นเอกลักษณ์ของชาวตรัง แต่ก็ขอให้มีจิตใจที่ใสสะอาด”

ความฝันของพี่ต้อยที่อยากเห็นตรังเป็นเมืองคนดีนั้น มีหลายปัจจัยที่ต้องพัฒนาร่วมกันไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและดูจะสวนกระแสกับความผันแปรของโลกยุคนี้ ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเงินทองมากกว่าจิตใจ กระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าไปทั่วทุกหัวระแหงก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นสำหรับเมืองตรัง เราจึงเห็นร้านค้าโมเดิร์นเทรดผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดทุกหัวเมืองใหญ่ ซึ่งหากมองในสายตานักอนุรักษ์ ร้านค้าขนาดใหญ่เหล่านี้อาจเป็นตัวทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น ตลาดของชาวบ้านจะค่อยๆล้มหายตายจากไป

“ตามมุมมองของผม ตลาดสดของตรังก็ยังเป็นที่นิยมไปจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวันอยู่ ส่วนในเรื่องของการไปเดินจับจ่ายในโมเดิร์นเทรด  จะเป็นเรื่องของการซื้อของทีละจำนวนมากๆ และน่าจะเป็นการไปเดินในบรรยากาศสบายๆ ด้วยส่วนหนึ่ง แต่การไปซื้อของที่ตลาดสดจะไม่หายไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเรา เพราะตลาดเป็นมากกว่าพื้นที่ค้าขายแต่เป็นพื้นที่ของความผูกพันในชุมชน เป็นแหล่งการได้พบกันของคนในท้องถิ่นด้วย ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน เป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่ง  สมัยก่อนรุ่นคุณพ่อคุณแม่เราก็ไปเดินตลาด เราก็ซึมซับวิถีชีวิตแบบนั้นเข้ามาในรุ่นเราด้วย แม้ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าโมเดิร์นเทรดก็มาช่วงชิงไปบ้าง
กระแสสังคมจังหวัดตรังไม่ได้มีการต่อต้านการเข้ามาของโมเดิร์นเทรด เพราะก่อนที่เขาจะเข้ามาในเมืองตรังคนที่ตรังก็ได้เข้าไปซึมซับรูปแบบของโมเดิร์นเทรดที่หาดใหญ่มาก่อนแล้ว ตอนนั้นก็ยอมรับว่าคนตรังก็คิดว่าเมื่อไหร่จะมีที่จังหวัดตัวเอง ในส่วนลึกผมก็ไม่อยากให้เงินไหลออกไปนอกตรัง แต่ในยุคปัจจุบันจะให้ต่อต้านก็ยาก”

ความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการใช้ชีวิตของคนตรังที่เป็นไปตามกาลเวลา ไม่ได้มีแต่เรื่องที่น่าเป็นห่วง การเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องดีๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะวิถีการดูแลสุขภาพ เพราะตรังเป็นเมืองนักกิน บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินข่าวความป่วยไข้ของผู้คน จากการกินที่สมบูรณ์เกินไป

“คนตรังเป็นคนที่มีความเป็นอยู่ค่อนข้างจะสุขสบาย ฐานะก็อยู่ในขั้นดี ไม่ขัดสนในเรื่องอาหารการกิน คำกล่าวที่ว่า “เมืองตรังเป็นเมืองนักกิน” นั้นเป็นคำกล่าวภายหลัง ที่มาของคำนี้เกิดจากคนตรังเป็นคนใจกว้าง เมื่อมีแขกบ้านแขกเรือนเข้ามา คนตรังก็จะต้อนรับเรื่องอาหารการกินอย่างดี เป็นเอกลักษณ์ของความมีน้ำใจมากกว่าที่จะมองถึงความช่างกิน
แต่เมื่อถึงช่วงวัยที่มีอายุมากขึ้น การกินอาหารดีๆ จำนวนมาก อาจจะเป็นผลก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย และบวกกับขาดการออกกำลังกาย หรือไม่ดูแลสุขภาพเท่าที่ควร คนตรังรุ่นก่อนๆ ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับไขมันและหลอดเลือดค่อนข้างเยอะ แต่ปัจจุบันเราพัฒนาดีขึ้น มองไปที่สนามกีฬาก็เริ่มจะเห็นคนแทบทุกวัยเริ่มเข้ามาออกกำลังกายกัน อบต. เทศบาลต่างๆ ก็ส่งเสริมให้ความสะดวกกับประชาชนในท้องที่ ในเรื่องการออกกำลังกายมากขึ้น เช่น การเต้นแอโรบิค ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น สมัยก่อนที่คนตรังเจ็บป่วยต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พวกหมอก็พูดกันเล่นๆ ว่า ถ้าคนเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ก็เดาได้ว่า ต้องมาจากตรังเพราะกินดีเกินไป

ปัจจุบันนอกจากดูแลสุขภาพกันดีแล้ว เรายังมีโรงพยาบาลรัฐในตัวจังหวัด และครอบคลุมเกือบทุกอำเภอ โรงพยาบาลเอกชนก็มี โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ โรงพยาบาลตรังรวมแพทย์ และ โรงพยาบาลราชดำเนิน
สำหรับโรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ก็ยังมีความขาดแคลน ในเรื่องจำนวนแพทย์และเตียงคนไข้อยู่บ้าง แต่ระบบประกันสังคม และประกันสุขภาพ ก็ช่วยในเรื่องการรักษาพยาบาลได้มากขึ้นทำให้คนที่มีประกัน ได้เข้ามาใช้บริการในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น

ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าตรังยังต้องพัฒนาให้มีมากขึ้นคือ แหล่งนันทนาการสำหรับเยาวชน ที่เสริมความรู้อย่างเช่นโรงหนัง หรือสถานที่ให้วัยรุ่นได้มาทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ สถานที่ไปสนุกแล้วได้ประโยชน์ แต่เดิมมาตรังมีวัฒนธรรมการนั่งเล่นร้านกาแฟ คำว่าร้านกาแฟไม่ได้หมายความว่าไปกินชาเย็น ขนมจีบกันนะ มันเป็นแหล่งนัดพบสังสรรค์ของเพื่อนฝูง พูดคุยกัน ตอนเย็นบ้าง หรือตอนกลางคืนก็มี ซึ่งมีความหมายบอกให้รู้ว่า สถานที่ที่คนตรังโปรดปรานไม่น่าจะเป็นร้านเหล้า  ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นวัฒนธรรมที่รักษาคุณภาพชีวิตของผู้คนเอาไว้ ทำให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน คนจากจังหวัดใกล้เคียงก็ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่มากขึ้น

เมืองตรังยังมีที่อยู่อาศัยอีกเยอะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้าน ยังมีอากาศดีๆ อาหารการกินของจังหวัดก็สมบูรณ์ ที่พักผ่อนหย่อนใจก็ดี บอกได้เลยว่าเป็นที่พักของผู้หาความสงบได้ ผู้ที่ไม่เคยรับราชการที่จังหวัดตรังหรือไม่ได้เป็นคนตรังมาเลย แต่ตัดสินใจมาอยู่ที่ตรังหลังเกษียณอายุราชการก็มีเยอะ  เป็นเมืองที่คนที่เข้ามาอยู่จะชอบเพราะอากาศ กับ อาหาร ดี การคมนาคมก็สะดวก”

พี่ต้อยบอกเล่าเรื่องราวของเมืองที่รักให้เราฟังด้วยท่าทีสบายๆ เปี่ยมด้วยความจริงใจในสไตล์คนตรัง ซึ่งนักประชาสัมพันธ์คนไหนๆ ก็คงไม่สามารถบรรยายให้เราซาบซึ้งได้เท่านี้ หากปราศจากความเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาพูดอย่างแท้จริง

You may also like...