มะเร็งเต้านม….ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ในระหว่างวันที่ 14 – 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554 องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) โดยการนำของ นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ได้ร่วมกับบริษัทคามิโอเฮ้าส์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับชุดชั้นในสตรี ดำเนินโครงการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้แก่อสม.เพื่อให้อสม.ได้นำความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่สู่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านและชุมชนต่อไป โดยการจัดการ อบรมได้หมุนเวียนไปตามอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดตรังครบทั้ง 10 อำเภอ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายโครงการด้านสาธารณสุขของอบจ.ตรังและมีอสม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรีมาเข้าร่วมทั้งสิ้น 9,838 คน

เหตุผลในการดำเนินโครงการ
โครงการดังกล่าวเกิดจากแรงบันดาลใจอันแรงกล้าของนายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ที่ต้องการป้องกันการเกิดโรค ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มากกกว่าการรักษาเยียวยาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเพียงที่ปลายเหตุ ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาอบจ.ตรังเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งนายกอบจ.ตรังเป็นสมัยที่ 3 ว่า “จะเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี” ให้กับประชาชนชาวตรัง และจากการสัมภาษณ์นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ทำให้ทราบว่าความคิดริเริ่มของท่านในการดำเนินโครงการนี้ มาจากการที่ท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดตรังอยู่บ่อยครั้งทำให้พบว่าในจังหวัดตรังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้น

มะเร็งเต้านมคืออะไร
จากการบรรยายของคุณรัชวรรณ นุ้นฉิม ผู้ประสานงานฝ่ายขายและฝึกอบรม บริษัทคามิโอเฮ้าส์จำกัด วิทยากรประจำโครงการ ทำให้ทราบว่า มะเร็งเต้านมคือเซลล์ภายในเต้านมที่มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ดังกล่าวได้ มะเร็งเต้านมมี 2 ประเภทหลัก คือ มะเร็งเต้านมที่เกิดตรงท่อน้ำนม (Milk Duct) กับต่อมน้ำนม (Lobule) และไม่บ่อยนักที่มีการพบว่ามะเร็งเต้านมอาจเกิดตรงส่วนอื่น ๆ เช่นบริเวณใต้รักแร้ใกล้ ๆ กับต่อมน้ำเหลืองก็เป็นได้

สถิติมะเร็งเต้านมของประเทศไทย
มะเร็งเต้านมสามารถเกิดได้กับทั้งกับชายและหญิง แต่อัตราการเกิดในเพศชายนั้นต่ำมากคือในอัตราร้อยละหนึ่งเท่านั้น (มะเร็งที่เกิดกับเพศชายมากที่สุดคือมะเร็งตับ รองลงมาคือมะเร็งปอด) แต่ที่น่าตกใจก็คือ อัตราการเกิดมะเร็งเต้านมในเพศหญิงนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จนในปัจจุบันมะเร็งเต้านมได้กลายเป็นมะเร็งลำดับที่หนึ่งที่คร่าชีวิตสตรีไทยในแต่ละปี (รองลงมาคือมะเร็งปากมดลูก) และจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ทำให้ทราบว่า ในพ.ศ. 2533 มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 3,300 คน พ.ศ. 2536 มีผู้ป่วย 4,223 คน พ.ศ. 2539 มีผู้ป่วย 5,592 คน พ.ศ. 2542 มีผู้ป่วย 7,106 คน พ.ศ. 2548 มีผู้ป่วย 10,425 คน พ.ศ. 2551 มีผู้ป่วย 12,775 คน และในพ.ศ. 2553 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 13,184 คน และในพ.ศ. 2553 ยังพบด้วยว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมถึง 4,665 คนซึ่งโดยเฉลี่ยเท่ากับ 13 คนต่อวันเลยทีเดียว

ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมีหลายประการ เช่น (1) เพศและวัย โดยเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชายถึง 100 เท่า และยิ่งสูงวัยขึ้นเท่าใดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยมะเร็งเต้านมกรณีร้ายแรงมักพบในสตรีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป (2) ประวัติของสมาชิกในครอบครัว หากมีคนในครอบครัวหรือเครือญาติใกล้ชิดเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ผู้นั้นย่อมมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีเครือญาติใกล้ชิดเคยเป็นมะเร็งเต้านมเลย (3) ผู้ที่ไม่เคยมีบุตรมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้ว โดยผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 35 ปีมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่เคยมีบุตร การตั้งครรภ์มากว่า 1 ครั้งและการมีบุตรขณะที่อายุยังน้อยช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้ และ (4) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์เป็นประจำมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม เป็นต้น

อาการบ่งชี้
อาการที่บ่งชี้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเต้านมและอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านมมีหลากหลาย เช่น มีของเหลวที่มิใช่น้ำนม (เช่น เลือด น้ำเหลือง) ไหลออกมาจากหัวนม เกิดเแผลรอบ ๆ บริเวณหัวนมและมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หัวนมบุ๋มลงไป มีก้อนเนื้อบริเวณเต้านมและผิวหนังตรงเต้านมบวมแดงคล้ายผิวส้ม เป็นต้น

ทางการแพทย์ได้แบ่งมะเร็งเต้านมออกเป็น 5 ระยะ (จากระยะที่ 0 ถึง 4) ซึ่งมีอาการบ่งชี้แตกต่างกันไป โดยในระยะที่ 0 จะพบเซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะที่และยังไม่ลุกลาม ในระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งจะมีขนาดไม่เกิน 2 ซ.ม. ในระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งจะมีขนาดระหว่าง 2 ซ.ม. ถึง 5 ซ.ม. ในระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังผนังหน้าอกก่อให้เกิดอาการบวมของเต้านม และในระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งจะมีขนาดใหญ่และแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ

การตรวจความผิดปกติของเต้านม
การตรวจความผิดปกติของเต้านมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยตนเองก่อนที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง การตรวจความผิดปกติของเต้านมด้วยตนเองควรกระทำเป็นประจำทุกเดือนซึ่งมี 2 วิธีหลักคือ (1) การสังเกต และ (2) การคลำสัมผัส โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

การสังเกตมีสามขั้นตอนย่อยคือ (1) ให้ถอดเสื้อยืนหน้ากระจก วางมือข้างลำตัวในลักษณะผ่อนคลาย (2) ยกมือขึ้นเหนือศรีษะ แล้วให้มองจากด้านหน้าและด้านข้างเพื่อสังเกตเต้านม (3) วางมือไว้ที่เอว เกร็งอกและก้มไปข้างหน้า โดยการสังเกตเต้านมให้สังเกตดังต่อไปนี้ (1) เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปทรงหรือสีของผิวหนังหรือไม่ (2) ตรวจเช็ครอยบุ๋มยุบย่น การเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนัง ตรวจสอบว่าหัวนมมีแผล สะเก็ด หรือมีของเหลวไหลออกจากหัวนมหรือไม่ และ (3) ตรวจสอบความสมดุลของรูปทรงเต้านม ตำแน่งของหัวนม และการห้อยลงมาของเต้านมว่ายังปกติอยู่หรือไม่

การคลำสัมผัส สามารถกระทำได้ทั้งในท่านอนและท่ายืนเช่นในเวลาอาบน้ำ การคลำสัมผัสในท่านอนมีขั้นตอนคือ (1) นอนในท่าสบายแล้วสอดหมอนหรือม้วนผ้าไว้ใต้หัวใหล่ (2) ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งเหนือศรีษะเพื่อให้เต้านมส่วนบนด้านนอกแผ่ออก (3) โค้งฝ่ามือแล้วใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง กดคลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ โดยการกดมีสามลักษณะคือ กดเบา กดปานกลางและกดหนัก (เรียกว่า “สามนิ้วสามสัมผัส”) การกดเบามีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานกลางเพื่อให้รู้สึกถึงกึ่งกลางของเต้านม และกดหนักเพื่อให้รู้สึกถึงส่วนที่ติดกับผนังปอด โดยทิศทางการคลำสัมผัสมีสามทิศทางคือ (1) การคลำในแนวก้นหอยหรือวนเป็นรูปเหรียญบาท (2) การคลำในแนวรูปลิ่ม และ (3) การคลำในแนวขึ้นลง
โดยช่วงเวลาการตรวจความผิดปกติของเต้านมในแต่ละเดือนอาจเป็นการตรวจหลังหมดประจำเดือน 3-10 วัน หรือหลังจากมีประจำเดือนวันแรก 10 วัน (ไม่ควรตรวจในช่วงมีประจำเดือนเพราะเต้านมของบางคนอาจขยายใหญ่ขึ้นหรือบางคนอาจมีอาการเจ็บคัดเต้านมในช่วงเวลาดังกล่าว) สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ให้กำหนดวันใดวันหนึ่งที่สามารถจำได้ง่ายในการตรวจ เช่น ทุกวันที่ 1 หรือทุกวันที่ 15 ของเดือน ที่สำคัญ หลังจากตรวจด้วยตนเองแล้ว หากพบอาการผิดปกติไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ชักช้า เพราะแพทย์เท่านั้นคือผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ว่าอาการผิดปกติที่พบนั้นคืออาการของมะเร็งเต้านมหรือไม่ และหากเป็นอาการของมะเร็งเต้านม ย่อมเป็นการดีหากได้ดำเนินการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งพบความผิดปกติได้เร็วเพียงใด โอกาสในการรักษาให้หายขาดและปลอดภัยยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น

หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการนี้ก็คือ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่ามะเร็งเต้านมเป็นสิ่งใกล้ตัว ดังนั้นการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทโดยการเรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจึงช่วยลดความสูญเสียลงได้ ที่สำคัญ ควรระลึกว่าเรื่องสรีระร่างกายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ควรอายที่จะไปปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ การรักษาโรคมะเร็งอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานและมีหลายกระบวนการ ดังนั้นกำลังใจจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

สุดท้ายนี้ อบจ.ตรังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้จะได้รับการนำไปถ่ายทอดเพื่อให้พี่น้อง ประชาชนเกิดความตระหนักและเข้าใจมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้นเพื่อสุขภาวะของพี่น้องประชาชนชาวตรัง

บทความโดย สิทธิ หลีกภัย เลขานุการนายกอบจ.ตรัง

(ประชาชนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้จากหลายแหล่ง เช่น เวปไซท์ของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ www.nci.go.th)

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>