ป่าชายเลน

จากป่าแปดยืนสุดท้ายซึ่งเป็นป่าบกในเขตตรังเขาให้กำเนิดธารน้ำนับร้อย ไหลผ่านที่ราบแห่งตรังนาออกสู่ทะเลอันดามัน ตรงช่วงรอยต่อผสมผสานระหว่างน้ำจืดน้ำเค็มไปจนถึงปากแม่น้ำ ยังมีมรดกชิ้นสำคัญเป็นผืนป่ากว้างใหญ่ที่เรียกกันว่า ป่าชายเลน

ป่าชายเลนของเมืองตรังมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าป่าบก จากการตกตะกอนของดินเลนเป็นปัจจัยให้เกิดพรรณไม้หนาแน่น พรรณไม้เหล่านี้จะมีแนวเขตเป็นชั้นๆ คือตามริมฝั่งจะมี ปีปี แสม โกงกางหรือพังกา ลำพู ลำแพน ประสักโปรง ถัดเข้าไปก็จะมีไม้อื่นๆ เช่น ตะบูด ฝาด ตีนเป็ด ตาตุ่ม เป็นต้น แนวเขตสุดท้ายจะมีไม้เสม็ดซึ่งเริ่มเป็นป่าพรุ แนวนี้ถือเป็นเขตติดต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก

 

ป่าชายเลนยังมีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการวางไข่และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะการทับถมของซากพืชและสัตว์ในน้ำจนเน่าเปื่อยผุพัง กลายเป็นธาตุอาหารให้พวกจุลชีวันเจริญเติบโต จุลชีวัเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก สัตว์เล็กเป็นอาหารสัตว์ใหญ่ในป่าชายเลนด้วยกัน เมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลงก็ทับถมเน่าเปื่อยหมุนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอด ป่าชายเลนจึงเป็นแหล่งต้นชีวิตของสรรพสัตว์ที่มอบให้เป็นมรดกทะเลต่อไป

 

พรรณไม้ป่าชายเลนหลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรรักษาโรค จากการสำรวจเบื้องต้นของสมาคมหยาดฝน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมกับวิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร และองค์กรชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย 2 หมู่บ้าน คือ บ้านตะเสะ ตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญและบ้านทุ่งทอง บ้านแหลมมะขาม ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา การศึกษาครั้งนี้สามารถรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ในป่าชายเลนที่เป็นพีชสมุนไพรได้ถึง 57 ชนิด และยังมีการร่วมกันปลูกสร้างสวนป่าสมุนไพรไว้เพื่อการศึกษาและใช้ประโยชน์ของชุมชนต่อไป

 

จังหวัดตรังในอดีตมีป่าชายเลนเป็นแหล่งผลิตถ่านไม้โกงกางแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของภาคใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง มีรายงานการส่งออกไม้โปรงไปยังมลายูและปีนัง7 ต่อมาราวปลายสมัยรัชกาลที่6 มีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่แหลมไทร อำเภอสิเกา เพื่อทำเปลือกไม้โกงกางและแสมส่งไปขายปีนัง พอถึงพ.ศ. 2484 ซึ่งประกาศใช้ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีการให้สัมปทานแก่เอกชนทำไม้ในป่าชายเลนเพื่อการเผาถ่าน จากนั้นถ่านไม้ก็เป็นสินค้าสำคัญของเมืองตรัง ในรายงานกิจการจังหวัดตรัง พ.ศ. 2504 อำเภอปะเหลียน อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา มีเตาเผาถ่านไม้โกงกางจำนวน 46 ราย ผลิตถ่านได้เดือนละประมาณ 13,800 ลูกบาศก์เมตร ถ่านนี้จำหน่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด และส่งออกจำหน่ายไปยังสหพันธรัฐมลายูในสมัยนั้นด้วย

 

ต่อมาป่าชายเลนที่เป็นป่าสัมปทานให้ตัดไม้ทำถ่านมาแต่เดิมต้องชะลอกิจการเพื่อรอผลดำเนินการระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 สิงหาคม 2539 ที่ให้กรมป่าไม้ไปพิจารณาดำเนินการ แต่ก่อนจะถึงวันลงมติ ป่าชายเลนของเมืองตรังถูกใช้ประโยชน์ไปแล้วอย่างมหาศาล เห็นได้จากสถิติข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมกรมป่าไม้ปี 2518-2539 จำนวนเนื้อที่ป่าชายเลนเหลือลดน้อยลงทุกที

 

จากเนื้อที่ป่าชายเลนที่นับวันจะเหลือน้อย ทำให้เกิดผลกระทบต่อหมู่ตรังเลจำนวนสัตว์น้ำลดลง ทั้งด้วยการทำลายป่าชายเลนและสาเหตุอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านหันหน้ามาร่วมกันฟื้นฟูป่าชายเลน การจัดการป่าชายเลนชุมชนเกิดขึ้นครั้งแรกที่หมู่บ้านทุ่งทอง อำเภอสิเกาและสามารถขยายไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ตลอดแนวชายฝั่ง เกิดป่าชายเลนชุมชนเพิ่มขึ้นหลายแห่งเป็นความหวังและนิมิตหมายอันดีในการที่จะรักษาป่าชายเลนให้เป็นมรดกอันยั่งยืนของเมืองตรัง

 

 

 

You may also like...